เรื่องลี้ลับที่มีอยู่จริง ตำนานผีฟ้า ความเชื่อสุดสยองขวัญ โดยพิธีกรรมที่สืบเนื่องกันต่อกันมา ที่ใครที่ได้ฟังแล้ว ต้องรู้สึกขนลุกกันแน่นอน
ปลุกเรื่องราวสยองขวัญ ตำนานผีฟ้า
“ผีฟ้าเอย ได้โปรดเมตตา หมู่เฮาป่วยไข้ บอกใบ้หยูกยา หมู่เฮาบูชา ฮักผีฟ้าเอย” ซึ่งผู้คนหลายคนคงเคยได้ยินในเรื่องของ ตำนานผีฟ้า โดยเป็น เรื่องเล่า และละครผีฟ้าอันโด่งดังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ประวัติความเป็นมาที่แท้จริงของตำนานเหล่านี้ ซึ่งในวันนี้ทางเราจึงจะมาบอกเล่าเรื่องราว ผ่านทางความเชื่อ ความศรัทธาของชาวอีสานที่มีต่อผีฟ้าให้ผู้อ่านที่ชื่นชอบเรื่องราวลี้ลับเหล่านี้ได้ฟังกันแบบเจาะลึกกันเลย
สำหรับชาวอีสานนั้น มีความเชื่อ และความผูกพันกับผีเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อกันว่าเหตุการณ์แปลกประหลาด และเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจากความไม่พอใจของผีสางเทวดา โดยความเชื่อดังกล่าวทำให้เกิดการจัดพิธีบวงสรวงบูชากราบไหว้ผี และเมื่อทำเช่นนั้นก็จะส่งผลทำให้เหตุการณ์แปลกประหลาดบรรเทาลงอย่างน่าประหลาดใจ จึงทำให้ความเชื่อในการรับถือบูชาผีเข้ามา อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และกลายมาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันต่อมาอย่างยาวนานเลยทีเดียว
พญาแถนหรือผีฟ้าหรือผีแถนนั้น
ซึ่งเป็นชื่อเรียกบุคคลที่ชาวบ้านเคารพนับถือ และยกให้เป็นหมอรักษาคนป่วยตามความเชื่อในสมัยโบราณนั้น ผีฟ้าหรือผีแถนนั้นในแต่ละพื้นที่ก็จะมีการเรียกที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเชื่อกันว่าผีฟ้าเป็นหมอเทวดา โดยสามารถรักษาผู้ป่วยให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้ สำหรับผู้ที่เป็นผีฟ้ามักจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน เป็นผู้มีวิชาความรู้ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากผีฟ้ารุ่นก่อน ๆ ผีฟ้าเป็นที่เคารพนับถือกันอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ และเป็นที่พึ่งทางกายทางใจของชาวบ้าน โดยเปรียบเสมือนตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถช่วยปัดเป่าทุกข์ภัยต่าง ๆ ให้แก่พวกเขาพ้นจากอันตราย และคอยช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยให้หายได้
ระดับชั้นของผีแถน หรือผีฟ้า
โดยผีแถนนั้นจะมีระดับชั้นที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่มีศักดิ์มากที่สุดจะถูกเรียกว่า “แถนหลวง” เชื่อกันว่าที่จริงแล้วก็คือพระอินทร์ หากว่าต้องการร้องขอสิ่งใดจากผีแถนหลวงเชื่อว่าจะต้องใช้ “กลองกิ่ง” ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดกันมาของสายตระกูลผู้สืบด้ำแถนผีฟ้า
เมื่อเสียงกลองลั่นถึงหูผีแถนหลวงผู้ตีนั้นก็จะสามารถขอสิ่งใดก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้วละก็มักที่จะทำการตีก่อนออกเดินทางเพื่อทำการขอให้ผีแถนหลวงช่วยคุ้มครองรักษาให้การเดินทางปลอดภัยนั่นเอง
ผีฟ้าคือเทวดาไม่ใช่ผีสางแต่อย่างใด
สำหรับคนชาวอีสานมีความเชื่อว่าเป็นเทวดามากกว่าจะเป็นผีสาง จึงเรียกได้เลยว่าเป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีชนิดอื่น ๆ และยังมีความเชื่อว่าผีฟ้า สามารถดับทุกข์ และทำลายอุปสรรคหรือช่วยเหลือเหล่าคนที่เดือดร้อนได้ เพราะในอดีตมีความเชื่อกันว่าการที่มนุษย์เจ็บป่วย เนื่องมาจากการไปละเมิดต่อผี หรือว่าละเมิดต่อบรรพบุรุษ การรักษาจึงต้องมีการเชิญผีฟ้ามาเข้าสิงในร่างของคนทรง โดยคนชาวอีสานมักเรียกกันว่า ผีฟ้านางเทียน โดยในการอัญเชิญผีแถนมาสิงสถิตในร่างของคนทรงนั้น จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญด้วย 4 องค์ประกอบดังนี้ นั้นก็คือ หมอลำผีฟ้า ผู้ป่วย เครื่องคาย และหมอแคนนั่นเอง
ทางผีฟ้า และหมอลำ
- หมอลำ และผีฟ้า
ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่มีอายุแล้ว โดยยกเว้นในบางพื้นที่อาทิเช่น จังหวัดเลย จะเป็นหญิงสาว และจะต้องสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มหมอลำผีเพียงเท่านั้น แต่อันที่จริงผีฟ้าสามารถสิงได้ทุกเพศ ทุกวัยกันเลย
- หมอแคน
ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเป่าแคนเป็นอย่างดี เพราะเป็นการประกอบพิธีบวงสรวงผีแถนหรือผีฟ้าต้องใช้เวลาในการประกอบที่นานหน่อย และต้องมีการเป่าตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการเป่าเพื่อขับขานบทเพลงเป็นจังหวะให้กับหมอลำอยู่ตลอดเวลาไม่ให้ขาดตกบกพร่องเด็ดขาด
- ผู้ป่วย
ตรงนี้จะต้องแต่งกายตามที่กำหนดไว้ นั่นก็คือ มีผ้าไหมหรือผ้าขาวม้าพาดบ่า และมีดอกมะละกอร้อยเป็นพวงทัดหู และอีกทั้งยังสามารถฟ้อนรำกับหมอลำได้ ซึ่งผู้ป่วยนั้นสามารถที่จะเข้าไปทำการฟ้อนร่ายรำร่วมกับหมอลำในขณะที่ทำการประกอบพิธีได้เช่นกัน
- สุดท้ายก็คือ เครื่องคาย
โดยจะเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับวิญญาณ มักเป็นสิ่งของที่ใช้ในการอัญเชิญครูบาอาจารย์ผู้ที่ล่วงลับให้กลับมาช่วยเหลือรักษาผู้ป่วย ในสำรับมักประกอบด้วย บายศรีหมากเบ็ง 1 ต้น ไข่ เหล้า ผ้าแพรวา ขันห้า และเงินค่ายกครู (*ส่วนใหญ่แล้วคือประมาณ 4-6 บาท หรือ 1 ตำลึง)
การรำผีฟ้า
เมื่อมีคนเจ็บป่วยภายในหมู่บ้าน คนในบ้านนั้นก็จะเชิญผีฟ้ามารักษา และประกอบพิธีในการประกอบพิธีจะมีผีฟ้าคนหนึ่ง ซึ่งหมอแคน เครื่องดนตรีที่เรียกว่าแคน ดาบหนึ่งเล่ม และหวายสำหรับเฆี่ยนผีนั้น โดยการรักษาจะเริ่มจากคนเริ่มเป่าแคนแล้วผีฟ้าก็จะทำการฟ้อนรำ กระทืบเท้าปึงปังกระโดดโลดเต้นไปมาราวกับว่าเป็นการข่มขู่ หรือว่าทำให้ภูตผีหวาดกลัว และหนีไปไม่ให้มาทำร้ายคนอีก ส่วนในการรำผีฟ้า จะแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เมื่อครูบาเจ้าเข้าสิงร่างทรงแล้ว ผู้ทำพิธีจะต้องสวมผ้าซิ่นทับผ้าที่สวมอยู่ หรือหากว่าเป็นผู้ป่วยหญิง ครูบาจะสวมผ้าแพรหรือผ้าฝ้าย โดยสวมทับผ้านุ่งเดิมเอาไว้ ซึ่งจะจัดไว้ใกล้กับเครื่องคาย โดยในการรักษาทุกคนจะต้องฟ้อนรำและขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นหลัก ถ้าหากผู้ป่วยต้องการดูการฟ้อนรำก็จะทำหน้าที่ต่อไป แต่ถ้าไม่ต้องการก็จะนำเครื่องคายขึ้นไปเก็บไว้บนหิ้ง และทำการร่วมกันรับประทานอาหาร และเมื่อทานเสร็จก่อนผู้ป่วยจะกลับ ทางหมอลำผีฟ้าจะนำกลองกิ่งกลองศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาตี เพื่อให้เสียงดังไปถึงพญาแถนผีหลวงหรือผีฟ้า เพื่อให้ลงมาคุ้มครองจึงเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงผีฟ้า และหายป่วยดีแล้ว สำหรับผู้ป่วยก็จะถูกนับว่าเป็นหนึ่งในบริวารของผีฟ้า และมีหน้าที่ที่จะต้องมาเข้าร่วมพิธีกรรมในการรักษาผู้ป่วยคนอื่นต่อไปหากว่าไม่มีธุระที่สำคัญมากจริง ๆ และต้องเข้าร่วม “พิธีข่วงผีฟ้า” หรือพิธีไหว้ครูผีฟ้าที่จัดขึ้นในเดือน 3 ถึง 6 ที่บ้านหมอลำผีฟ้า โดยเป็นประจำทุกปี โดยบริวารทุกคนจะต้องนำดอกไม้สีขาวมาร้อยเป็นพวงมาลัย และเข้าร่วมพิธีพร้อมด้วยธูป เทียน ตุ้มหู แหวน และเครื่องประดับต่าง ๆ เพื่อไหว้ครูบาอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับการร่วมฟ้อนรำที่จัดขึ้นเป็นพิเศษด้วยความสนุกสนานด้วยกันนั่นเอง
ความเชื่อของชาวอีสาน
โดยเชื่อว่าผีฟ้านั้น สามารถที่จะกำหนดการเกิด-ตายของมนุษย์ได้ การที่มนุษย์ตายไป ขวัญจะออกจากร่างเพื่อไปพบกับบรรพชน แต่ขวัญจะไม่แตกดับเหมือนร่าง ซึ่งเป็นเพียงการจากไปของร่างแต่วิญญาณยังคงอยู่กับในโลกร่วมผู้มีชีวิต โดยสาเหตุที่มีการฟ้อนรำ ก็เพื่อให้คนไข้ มีพลังจิตในการต่อสู้กับความเจ็บป่วย และมีอารมณ์ผ่อนคลาย จิตใจปลอดโปร่ง จึงทำให้เกิดการรักษาตัวเองด้วยความคิดเชิงบวก และสร้างจิตสำนึกด้านความกตัญญูต่อบรรพบุรุษอีกด้วย ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี จะเห็นว่าผีฟ้าเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ทั้งหลาย โดยมีคติเตือนใจว่า “คนไม่เห็น แต่ผีเห็น” จะเห็นได้ว่าการบวงสรวงผีแถน ผีฟ้า นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องงมงาย แต่ว่ายังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และประเพณี ที่ช่วยสร้างความร่วมมือกันให้กับสังคมของคนชาวอีสานมาอย่างยาวนานตราบจนถึงปัจจุบันนี้
ขอบคุณและรูปภาพ ที่มาจาก : ผีฟ้าพญาแถน