ผีปู่ย่า

ผีปู่ย่า ตำนานผีล้านนาภาคเหนือ ที่กำลังจะเลือนหาย

ตำนาน ผีปู่ย่า ที่มีอยู่ทางภาคเหนือ กับความเชื่อสุดลี้ลับ โดยพิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ที่ได้ฟังแล้วต้องขนลุกอย่างแน่นอน

พบกับ ตำนานผีล้านนา ผีปู่ย่า ที่กำลังจะเลือนหายไป

“ผี” เป็นสิ่งลี้ลับ ที่เป็นความเชื่อ ที่เรียกว่าเหนือธรรมชาติสุด ๆ มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยถูกมองว่า เป็นสิ่งน่ากลัว และจับต้องไม่ได้ แต่ผีก็เป็นบางส่วน ที่เป็นสิ่งที่ชาวล้านนาเคารพกราบไว้

ผีปู่ย่า ตำนานผีล้านนาภาคเหนือ ที่กำลังจะเลือนหาย

ซึ่งวันนี้ ทางเราจะมาพูดถึง “ผีปู่ย่า” ของชาวไทยล้านนา ที่มีตำนานความเชื่อว่า เป็นผีที่รักษาปกครองครอบครัวให้พ้นกับภัยอันตรายทั้งปวง ทางเราจะมาบอกเล่าเรื่องราว ให้ผู้อ่านได้รู้จักถึงที่มา  และความเชื่อที่เกี่ยวกับผีปู่ย่า ดังนี้

ในสมัยก่อน มีผู้คนจำนวนมาก ที่มีความเชื่อในเรื่องของวิญญาณ ผีสาง พลังลี้ลับ ก่อนที่จะพบกับการนับถือศาสนาต่าง ๆ ดังนั้นผู้คนจึงต้องหาที่พึ่งพิงทางใจ โดยเฉพาะที่พึ่งพิงทางผู้ใหญ่ ที่ใกล้ชิด และคอยปกปักรักษา เมื่อญาติผู้ใหญ่ได้สูญเสียไปแล้ว จะมีความเชื่อว่า จิตวิญญาณของท่านเหล่านั้น จะมีความห่วงหา และอาลัยลูกหลาน วิญญาณดังกล่าว จะเกิดเป็นพลังที่วนเวียนคอยดูแลลูกหลานอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเชื่อดังกล่าว จึงเกิดเป็นวิถีการเลี้ยงผีปู่ย่านั่นเอง

ตำนาน ผีปู่ย่า

สำหรับเรื่องผีปู่ย่า “ตำนานผีปู่ย่า” ที่สำคัญสามารถค้นหาได้ และพอมีหลักฐานค้นคว้า นั่นก็คือ “ตำนานผีปู่แสะย่าแสะ” ที่ดอยคำ หรือดงหลวง ในบางครั้งก็เรียกกันว่า “ผีปู่ย่าดอยคำ” ในเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คนเราต้องการความพึ่งพิง หรือความอบอุ่นทางใจ ต้องการมีกำลังใจ ในการดำรงชีวิตประจำวันในทุก ๆ วัน ประกอบกับความอาลัยอาวรณ์หาญาติผู้ใหญ่ที่เสียชีวิต จึงมีการปรุงแต่งให้มีผีปู่ย่าเกิดขึ้น

เครื่องสักการะ หรือเครื่องบูชา ผีปู่ย่า

ตำนานผีปู่ย่า จะมีความเชื่อที่ว่า เป็นผีบรรพบุรุษ ที่สามารถคุ้มครองญาติ ๆ ที่นับถือสืบต่อกันมา โดยมีเครื่องสักการะ หรือเครื่องบูชา นั่นก็คือ “สวยดอกไม้” (สวยดอกไม้ เป็นคำของท้องถิ่นทางภาคเหนือ ที่แปลว่า กรวยดอกไม้) โดยจำนวนสวยดอกนั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละตระกูล ว่าจะมีการกำหนดเท่าไหร่ แต่ทางเราได้ทราบมาว่า มักจะถือเอาจำนวนเงินค่าผีมากำหนด อาทิเช่น ตระกูลนี้มีค่าผีอยู่ที่ 32 แถบ เขาก็จะกำหนดสวยดอกไม้เป็น จำนวน 32 สวย เป็นต้น หรือในบางท้องถิ่น อาจมีความแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับถิ่นที่อยู่อาศัย

นอกจากสวยดอกไม้แล้วยังมี ธูป, เทียน, ต้นดอก, ต้นเทียน, หมากพลู, เครื่องประดับตกแต่ง ตามแต่ผู้คน จะกำหนดกัน แต่ที่แน่ ๆ จะต้องมีการกำหนด “ที่อยู่ของผีปู่ย่า” โดยจะมี 2 แห่ง คือ “หิ้งผีปู่ย่า” ในห้องนอนหลวง (ใหญ่) ซึ่งเป็นห้องนอนของญาติผู้ใหญ่ นอกจากนี้ จะต้องทำ “หอผีปู่ย่า” ไว้ภายในรั้วบ้านอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นสถานที่ให้บรรดาเหล่าญาติพี่น้อง ที่มาร่วมเลี้ยงผีได้มาสักการะบูชาไหว้ไปพร้อม ๆ กันนั่นเอง

เครื่องเซ่นไหว้บูชาผีปู่ย่า

“เครื่องเซ่นไหว้บูชา” ส่วนมากมักจะเป็นอาหารทั่วไป ในชีวิตประจำวัน ที่ใช้รับประทานกันตามบ้านเรือน หรือในท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ลาบ แกงฮังเล แกงแค น้ำพริกอ่อง หรือบางบ้านอาจมีหัวหมู หรือไก่ ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนด และฐานะของเจ้าของบ้านด้วย

ผีปู่ย่าที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน

คำกล่าวบูชาเซ่นไหว้ผีปู่ย่า

“การบูชา” เมื่อถึงเวลาผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้อาวุโส จะกล่าวคำบูชา พร้อมกับญาติพี่น้อง ที่มาร่วมก็พนมมือไหว้อธิษฐานในตอนนั้น เสร็จแล้วก็ถอยออกมารอ จนกว่าไฟจะไหม้ธูปเทียนจนหมดเล่ม เพียงเท่านี้ก็ถือว่าผีปู่ย่าได้รับรู้ และรับเครื่องบูชาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานก็จะถอยเอาเครื่องบูชา ข้าวปลาอาหาร ออกมาแบ่งปัน และเลี้ยงรับประทานกัน ในหมู่เครือญาติมิตร พูดจาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ลูกหลานที่อยู่ไกลได้มาอยู่ใกล้กัน เด็ก ๆ ต่างได้ทำความรู้จักสนิทสนมกันมากขึ้น เป็นการขันเกลียวเครือญาติให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

เมื่อผู้ใหญ่ หรือผู้อาวุโสเสียชีวิตลง จะต้องมีผู้ที่รับเอาผีปู่ย่าไปเลี้ยงต่อ หากในบ้านนั้น มีผู้หญิง หรือลูกสาว เจ้าของบ้านก็จะสืบทอดผีปู่ย่าต่อกันมาเรื่อย ๆ แต่หากมีลูกผู้หญิงคนโตไปอยู่ต่างเรือน ก็จะต้องเอาหิ้งผีปู่ย่า พร้อมกับเครื่องสักการะที่มีอยู่ทั้งหมด ที่อยู่ในเรือนใหญ่ ทำการย้ายไปไว้ในบ้าน ของลูกผู้หญิงคนโตนั้นทั้งหมด

การสืบทอดประเพณีผีปู่ย่า

“การสืบทอดผีปู่ย่า” จะขึ้นอยู่กับสตรี หรือผู้หญิงเท่านั้น หากบุตรคนโตเสียชีวิต ก็จะต้องมอบให้กับบุตรีคนรองลงมา หากในครอบครัวนั้นไม่มีบุตรี ก็จะต้องพิจารณาว่า ในเรือนใดของเครือญาติ ที่มีบุตรสตรีที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุด ก็ต้องย้ายหิ้งผีปู่ย่าไปไว้บ้านนั้น ยกให้เป็นผู้ดูแล ส่วนการบูชาต่างๆ ก็ต้องกระทำตามประเพณีไหว้ผีปู่ย่าแบบดังเดิม ส่วนหอผีปู่ย่าที่สร้างไว้ ก็จะต้องให้อยู่คงเดิม ขณะเดียวกันเหล่าเครือญาติ ๆ ที่เป็นบริวาร ก็ต้องสร้างหอผีปู่ย่าไว้ในบริเวณบ้านของตน เพื่อเป็นที่สักการะบูชา เพียงแต่ไม่มีหิ้งผีปู่ย่าเท่านั้น เหมือนเรือนที่เป็นเก๊าผีเท่านั้น “เก๊า” เป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือ ที่มีความหมายว่า ลำต้น หรือเสา ดังนั้น “เรือนที่เป็นเก๊าผี” จึงหมายถึง ศาลพระภูมิ นั่นเอง

ดังนั้น เมื่อเราไปเที่ยวแถว ๆ ชนบท ในเมืองล้านนา ท่านก็จะเห็นบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ปลูกอยู่ตามริมรั้วหลังบ้าน และมีเครื่องสักการะบูชาเซ่นไหว้ ดอกไม้ประดับ นั่นคือ “หอผีปู่ย่า” นั่นเอง หากคนในบ้านมีสิ่งที่ผิดปกติ หรือมีการเดินทางไกล หรือมีเหตุการณ์ ที่จะต้องการพึ่งพาทางใจ ผู้คนในบ้านก็ไปบอกกล่าว หรือบนบานกับหอผีปู่ย่า เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองญาติพี่น้อง

เวลาในการเลี้ยงผีปู่ย่าประจำปี

หากมีจำนวนคน เข้ามาอยู่ในครัวเรือนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น ลูกบ่าว (ลูกชาย) ลูกจาย (ลูกเขย) ลูกญิง (ลูกสาว) หรือลูกไป๊ (ลูกสะใภ้) ก็ต้องบอกกล่าวให้กับผีปู่ย่า เพื่อให้ท่านได้รับทราบ และถือว่านั่นคือ ความผูกพันแบบเครือญาติ หรือในหมู่ผีปู่ย่าเดียวกันเรียบร้อยแล้ว “เวลาที่เลี้ยงผีปู่ย่าประจำปี” มักกระทำกันในเดือนเจ็ด หรือเรียกว่าเดือนเมษายน เรื่อยไปจนถึงเดือนเก้าเหนือ หรือเดือนมิถุนายน แล้วแต่ตามที่แต่ละครอบครัว จะสะดวกในช่วงใดช่วงหนึ่ง

ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อ ในเรื่องของผีปู่ย่า ในบางที่อาจมีสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เราได้กล่าวไป จะขึ้นอยู่กับความละเอียดอ่อน ของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น แต่ที่แน่ ๆ ผีปู่ย่าจะคอยปกปักรักษาเหล่าเครือญาติรักกัน และมีความสุขใจ เมื่อหมู่เครือญาติได้มาร่วมพบปะกันในงานเลี้ยงผีปู่ย่านั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : “ผีปู่ย่า” ตำนานผีล้านนาที่กำลังจะหายไป – Chiang Mai News